Tuesday, May 5, 2009
โอวาท ทำพระนิพพานให้แจ้ง
๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔
After you have ordained, you must have one objective: to attain Nibbana. Beyond this, other aims are secondary. It must be in every one of your hearts. If you do not have this goal, being a monk will be difficult.
7 October 2001
พุทธปัจฉิมโอวาท
ผู้ปรารภความเพียร
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ข้าพเจ้าได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร ผู้ปรารภความเพียร’ ด้วยเหตุเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามอย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า ‘จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกายจงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร’ โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้’ ข้าพเจ้าได้สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคอย่างนี้...”
ฆฏสูตร, สํ.นิ. ๑๖/๒๓๗/๓๒๘.
Thursday, April 30, 2009
ตื่นเถิด...ภิกษุ
เทวดาตนหนึ่ง เอ็นดูภิกษุรูปหนึ่ง จึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นขณะเธอนอนหลับกลางวัน แล้วกล่าวคาถาหวังจะให้เธอสลดใจว่า
“ท่านจงลุกขึ้นเถิดภิกษุ ท่านจะต้องการอะไรด้วยความหลับ ท่านผู้ เร่าร้อนด้วยกิเลส อันลูกศรคือตัณหาเสียบแทงดิ้นรนอยู่ จะมัวหลับอยู่ทำไม ท่านออกจากเรือนบวชด้วยความเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธาใด ท่านจง เพิ่มพูนศรัทธานั้นเถิด อย่าตกไปสู่อำนาจแห่งความหลับเลย”
อุปัฏฐานสูตร, สํ.ส. ๑๕/๒๒๒/๓๒๔.
ผู้มีความสงัดเป็นเพื่อน
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่เป็นผู้ชอบคณะ ไม่ยินดีคณะ ไม่ประกอบความยินดีคณะ จักเป็นผู้อยู่รูปเดียว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบ ข้อนี้ย่อมเป็นไปได้
สังคณิการามสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๖๘/๕๘๗.
Saturday, April 25, 2009
ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
จิตของภิกษุ ผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ ผู้น้อมไปยังความสงัดแห่งใจ ผู้น้อมไปยังความสิ้นตัณหา ผู้น้อมไปยังความสิ้นอุปาทาน และผู้น้อมไปยังความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเพราะเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งอายตนะทั้งหลาย กิจที่ควรทำและการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบ
โสณสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๕๕/๕๓๘.
“สึก”...ทุกวัน
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า “วันนี้อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้” แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไปภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว
ภาวนาสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๑/๑๕๗.
Monday, April 20, 2009
ทางสายกลาง
“ดูก่อนโสณะ เธอเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร เมื่อใดสายพิณตึงเกินไป พิณย่อมมีเสียงไพเราะหรือ”
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“โสณะ เมื่อใดสายพิณหย่อนเกินไป พิณย่อมมีเสียงไพเราะหรือ”
“ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“โสณะ ก็เมื่อใด สายพิณไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ขึงอยู่ในระดับ ที่พอเหมาะ พิณย่อมมีเสียงไพเราะหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“โสณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภมากเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไปย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงปรับอินทรีย์ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ให้เสมอกันและจงถือนิมิตในความ สม่ำเสมอนั้น”
โสณสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๕๕/๕๓๔.
“คิด”...ไม่ถึง
เปรียบเหมือนแม่ไก่มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่ เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ได้ แม่ไก่นั้น แม้จะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า “โอหนอ ขอให้ลูกของเราพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดี” ก็จริง แต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกะเปาะไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น
ภาวนาสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๑/๑๕๖.
Wednesday, April 15, 2009
ความตายอยู่แค่ปลายจมูก
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ประมาทเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายช้า
ส่วนภิกษุใดย่อมเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ ชั่วขณะที่เคี้ยวข้าวคำหนึ่งกลืนกิน เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มี-- พระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ” และ ภิกษุใดย่อมเจริญมรณสติอย่างนี้ว่า “โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือหายใจออกแล้วหายใจเข้า เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มากหนอ”
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมเจริญ มรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายแรงกล้า
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทจักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายอย่างแรงกล้า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล”
ปฐมมรณัสสติสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๑๙/๔๔๖.
ภิกษุผู้อยู่ในธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ เธอไม่ปล่อยวันคืนให้ล่วงเลยไป ไม่ละการหลีกออกเร้นอยู่ ประกอบความสงบใจภายใน เพราะการเรียนธรรมนั้น ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้อยู่ในธรรม...
ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล อนุเคราะห์ อาศัยความเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราได้ทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว
ดูก่อนภิกษุ นั่นโคนต้นไม้ นั่นเรือนว่าง เธอจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอ ทั้งหลาย
ปฐมธัมมวิหารีสูตร, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๗๓/๑๒๓.
Friday, April 10, 2009
กิจรีบด่วนของภิกษุ
ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ภิกษุต้องรีบทำ ๓ ประการ คือ การบำเพ็ญอธิสีลสิกขา การบำเพ็ญอธิจิตตสิกขา การบำเพ็ญอธิปัญญาสิกขา นี้แลเป็นกิจที่ภิกษุต้องรีบทำ แต่ภิกษุนั้นไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพที่จะบันดาลว่า “จิตของเราจงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ได้” เพราะอันที่จริง เมื่อภิกษุนั้นศึกษาอธิศีลสิกขาไป ศึกษา อธิจิตตสิกขาไป ศึกษาอธิปัญญาสิกขาไป จิตย่อมจะเลิกยึดถือ หลุดพ้น จากอาสวะได้เอง”
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า “เรามีความพอใจอย่างยิ่งยวดในการบำเพ็ญอธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา” ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.
อัจจายิกสูตร, องฺ.ติก.๒๐/๙๓/๓๒๔.
Sunday, April 5, 2009
พระแท้แต่ปางก่อน
ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติดไม่พัวพันเลย
ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน (แม้จะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ) ไม่ขวนขวายหาเภสัชปัจจัยอันเป็นบริขารแห่งชีวิต เหมือนการขวนขวายหาความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นขวนขวายพอกพูนวิเวก มุ่งแต่เรื่องวิเวก อยู่ในป่า โคนไม้ ซอกเขาและถ้ำเท่านั้น
ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อนเป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่นเลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจไม่กระด้าง ไม่ถูกกิเลสรั่วรด ปากไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตนแลผู้อื่น
เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อนเป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับ การบริโภคปัจจัย การซ่องเสพโคจร และมีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใส เหมือนสายน้ำมันไหลออกไม่ขาดสายฉะนั้น
เท่านี้ก็เพียงพอ
ธนิยเถรคาถา, ขุ.เถร.๒๖/๒๒๘-๒๓๐/๓๗๔-๓๗๕.
Monday, March 30, 2009
หมอนไม้พิฆาตกิเลส
แต่ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายจักทำตนเป็นสุขุมาลชาติ มีฝ่ามือและฝ่าเท้าอ่อนนิ่ม นอนบนที่นอนมีหมอนหนาอ่อนนุ่ม จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น คราวนั้นเอง มารผู้ใจบาป ก็จักได้ช่อง ได้โอกาสทำลายภิกษุเหล่านั้นได้ตามอำเภอใจ
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลาย จักใช้หมอนไม้หนุนศีรษะและเท้า เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส” เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกไว้อย่างนี้แล
กลิงครสูตร, สํ.นิ.๑๖/๒๓๐/๓๑๘.
โทษของการติดที่อยู่
[๑] ภิกษุติดที่อยู่ ย่อมมีสิ่งของมาก เป็นผู้ชอบสะสมสิ่งของไว้มาก
[๒] ภิกษุติดที่อยู่ ย่อมมีเภสัชมาก เป็นผู้ชอบสะสมเภสัชไว้มาก
[๓] ภิกษุติดที่อยู่ ย่อมมีกิจมาก มีการงานที่จะต้องทำมาก ไม่ฉลาด ในกิจที่สมณะต้องทำ
[๔] ภิกษุติดที่อยู่ ย่อมคลุกคลีกับคฤหัสถ์และบรรพชิตด้วยการคลุกคลีกันอย่างคฤหัสถ์ซึ่งไม่สมควรแก่บรรพชิต
[๕] ภิกษุติดที่อยู่ เมื่อจะจากอาวาสนั้นไป ย่อมจากไปด้วยจิตที่ห่วงใย
ภิกษุทั้งหลาย โทษในการอยู่ประจำที่นาน มี ๕ ประการนี้แล
อตินิวาสสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๒๒๓/๓๖๕.
Wednesday, March 25, 2009
ภิกษุผู้ยังติดสบาย
ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย
จตุตถอนาคตภยสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๐/๑๔๗.
ภิกษุผู้ยังติดในรส
ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย
จตุตถอนาคตภยสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๐/๑๔๗.
Friday, March 20, 2009
ภิกษุผู้ยังติดในจีวร
ภิกษุทั้งหลาย ภัยในอนาคต ซึ่งยังไม่บังเกิดในบัดนี้ แต่จักบังเกิดในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงรู้ไว้เฉพาะ ครั้นแล้วพึงพยายามเพื่อละภัยนั้นเสีย
จตุตถอนาคตภยสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๐/๑๔๗.
Sunday, March 15, 2009
กุฏิวิหารที่ลุกเป็นไฟ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การใช้สอยกุฏิวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา นั่นแหละประเสริฐกว่า เพราะการที่บุรุษผู้มีกำลังจับคนชูเท้าขึ้น ห้อยศีรษะ ลงแล้วโยนลงในหม้อเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วง เขาถูกไฟลวกเดือด โผล่ขึ้นเป็นฟองในหม้อเหล็กร้อนนั้น บางครั้งก็ลอยขึ้น บางครั้งก็จมลง บางครั้งก็ลอยขวาง นั่นเป็นความทุกข์ ทนได้ยาก พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอ การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน ชุ่มด้วยราคะ หมักหมมเหมือนบ่อที่เทหยากเยื่อ การใช้สอยกุฏิวิหารที่เขาถวายด้วยศรัทธาจะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มีกำลังจับคนชูเท้าขึ้น ห้อยศีรษะลงแล้วโยนลงในหม้อเหล็กร้อนที่เผาไฟลุกโชนโชติช่วง เขาถูกไฟลวกเดือดโผล่ขึ้น เป็นฟองในหม้อเหล็กร้อนนั้น บางครั้งก็ลอยขึ้น บางครั้งก็จมลง บางครั้งก็ ลอยขวางยังจะดีเสียกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงตายหรือทุกข์ปางตายด้วยเหตุที่ถูกโยนลงในหม้อเหล็กร้อนก็จริงอยู่ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด ฯลฯ แล้วยังคิดใช้สอยกุฏิวิหารที่เขาถวายมาด้วยศรัทธา ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เขาตลอดกาลนาน และหลังจากตายแล้ว เขายังต้องไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกอีก”
อัคคิกขันโธปมสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๒/๑๖๔.
ก้อนข้าวที่ลุกเป็นไฟ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การฉันก้อนข้าวที่เขาถวายด้วยศรัทธานั่นแหละประเสริฐกว่า เพราะการที่บุรุษผู้มีกำลังใช้ตะของ้างปากแล้วใส่ก้อนเหล็กร้อนที่ลุกเป็นไฟเข้าไปในปาก นั่นเป็นความทุกข์ ทนได้ยาก พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอ การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำ ที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน ชุ่มด้วยราคะ หมักหมมเหมือนบ่อที่เทหยากเยื่อ ฉันก้อนข้าวที่เขาถวายด้วยศรัทธา จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มีกำลังใช้ตะของ้างปากแล้วใส่ก้อนเหล็กร้อน ที่ลุกเป็นไฟเข้าไปในปากยังจะดีเสียกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงตายหรือทุกข์ปางตายด้วยเหตุที่ถูก ใส่ก้อนเหล็กร้อนเข้าไปในปากก็จริงอยู่ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด ฯลฯ แล้วยังคิดฉันก้อนข้าวที่เขาถวายมาด้วยศรัทธา ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เขาตลอดกาลนาน และหลังจากตายแล้ว เขายังต้องไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกอีก”
อัคคิกขันโธปมสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๒/๑๖๒.
Tuesday, March 10, 2009
จีวรที่ลุกเป็นไฟ
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การใช้สอยจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธานั่นแหละประเสริฐกว่า เพราะการที่บุรุษผู้มีกำลังเอาแผ่นเหล็กร้อนลุกเป็นไฟมานาบกาย นั่นเป็นความทุกข์ ทนได้ยาก พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอ การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน ชุ่มด้วยราคะ หมักหมมเหมือนบ่อที่เทหยากเยื่อ ใช้สอยจีวรที่เขาถวายด้วยศรัทธา จะประเสริฐอะไร การที่บุรุษผู้มีกำลังเอาแผ่นเหล็กร้อนลุกเป็นไฟมานาบกายยังจะดีเสียกว่า
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงตายหรือทุกข์ปางตายด้วยเหตุที่ถูกนาบกายด้วยแผ่นเหล็กร้อนลุกเป็นไฟก็จริงอยู่ แต่หลังจากตายแล้ว เขาจะ ไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด ฯลฯ แล้วยังคิด นุ่งห่มจีวรที่เขาถวายมาด้วยศรัทธา ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เขาตลอดกาลนาน และหลังจากตายแล้ว เขายังต้องไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกอีก”
อัคคิกขันโธปมสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๒/๑๖๑.
ว่าด้วยการบริโภคปัจจัย ๔
Thursday, March 5, 2009
จงอยู่กับปัจจุบัน
โรคทางใจของบรรพชิต
[๑] ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้
[๒] ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้ง ความปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่องเพื่อให้ได้ลาภสักการะและ ชื่อเสียง
[๓] ภิกษุนั้นวิ่งเต้น ขวนขวาย พยายามเพื่อไม่ให้ผู้อื่นดูหมิ่น เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง
[๔] ภิกษุนั้นเข้าสู่ตระกูลเพื่อให้เขานับถือ นั่งอยู่เพื่อให้เขานับถือ กล่าวธรรมเพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระปัสสาวะอยู่ (ในตระกูล) ก็เพื่อให้ เขานับถือ
ภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิตมี ๔ อย่างนี้แล
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก ไม่มีความร้อนใจ สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้ เราจักไม่ตั้งความปรารถนาลามกเพื่อจะให้คนอื่นยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง จักไม่วิ่งเต้น ไม่ขวนขวาย ไม่พยายาม เพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะและชื่อเสียง เราจักเป็นผู้อดทนต่อความหนาว ความร้อน ความหิวกระหาย ต่อการถูกเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลายรบกวน ต่อถ้อยคำอันหยาบคายร้ายแรงต่างๆ จักเป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนาที่เกิดในร่างกาย อันเป็นทุกข์ กล้าแข็งเผ็ดร้อน ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ซึ่งพรากชีวิตเสียได้”
โรคสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๕๗/๒๑๗.
Friday, February 20, 2009
ภิกษุเห็นแก่ได้
เมื่อภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้เข้าไปสู่ตระกูล ชนทั้งหลายไม่ให้ ภิกษุ จึงอึดอัดเพราะสาเหตุนั้น เธอย่อมเสวยทุกข์โทมนัสเพราะสาเหตุนั้น... ภิกษุเช่นนี้ไม่สมควรเข้าไปสู่ตระกูล
กุลูปกสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๗/๒๓๙.
ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รัก
ก็ผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ แต่ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร ผู้นั้นย่อมทำลายผู้อื่นเสียจากบุญ ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้ด้วย
ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการขอ ขอสิ่งที่ควรขอ ทั้งขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วย
อัฏฐิเสนชาดก, ขุ.ชา. ๒๗/๕๕-๕๗/๒๖๔-๒๖๕.
Sunday, February 15, 2009
แสดงธรรมด้วยความบริสุทธิ์
ส่วนภิกษุรูปใดมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มี-- พระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่จำกัดกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงรู้ทั่วถึงธรรม และ ครั้นรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น” จึงแสดงธรรม แก่ชนเหล่าอื่น
เธออาศัยความที่พระธรรมเป็นธรรมดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณาจึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ด้วยประการฉะนี้ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้แล ชื่อว่าบริสุทธิ์
จันทูปมาสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๖/๒๓๘.
จงเป็นเช่นพระจันทร์
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกายพรากจิตออก (เว้นจากการตรึกถึงกามวิตกเป็นต้น) เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ (ทำตัวเหมือนอาคันตุกะเสมอ) เป็นผู้ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลเถิด เปรียบเหมือนบุรุษพึงพรากกาย พรากจิต แลดูบ่อน้ำซึ่งคร่ำคร่า ภูเขาที่ เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ ฉันใด เธอทั้งหลายก็จงเป็น ประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่ เป็นนิจ เป็นผู้ ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลเถิด”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ในอากาศ ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุ ผู้เข้าไปสู่ตระกูล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในตระกูล โดยคิดว่า ‘ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ’ ฉันนั้น
ภิกษุเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภอันเป็นของตน ฉันใด ก็จงเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ภิกษุเช่นนี้แล จึงควรเข้าไปสู่ตระกูล”
จันทูปมาสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๖/๒๓๗.
Tuesday, February 10, 2009
สมณะผู้ละเอียดอ่อน
ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ บุคคลนั้นคือเรานั่นเอง ที่บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า “เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
สมณสุขุมาลสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๐๔/๑๘๐.
มหาโจรปล้นเมือง
ภิกษุใดมีภาวะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ประกาศตนให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็น อย่างอื่น บริโภคก้อนข้าวด้วยอาการแห่งขโมย ย่อมเป็นเช่นเดียวกับ นายพรานนก ล่อลวงนกแล้วจับกินฉะนั้น
ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวพัสตร์คลุมที่คอ มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม ภิกษุเหล่านั้นย่อมไปเกิดในนรก เพราะบาปกรรมอันหยาบช้า ภิกษุทุศีลไม่สำรวม กินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนเหมือนเปลวไฟยังจะดีกว่า บริโภคก้อนข้าวของชาวเมืองไม่ดีเลย
ปาราชิกกัณฑ์, วิ.ม.๑/๑๙๕/๑๘๑.
Thursday, February 5, 2009
ราคีบดบังราศีสมณะ
เช่นเดียวกันแล อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เป็นเหตุให้สมณะบางพวก มัวหมองไม่ผ่องใส ไม่งามสง่า ไม่รุ่งเรือง ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ
[๑] สมณะพวกหนึ่งยังดื่มสุราเมรัย ไม่เว้นขาดจากการดื่มสุราเมรัย
[๒] สมณะพวกหนึ่งยังเสพเมถุนธรรม ไม่เว้นขาดจากการเสพเมถุนธรรม
[๓] สมณะพวกหนึ่งยังยินดีในการมีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการ รับทองและเงิน
[๔] สมณะพวกหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ไม่เว้นขาดจากจากการ เลี้ยงชีพที่ผิดวิสัยของสมณะ
ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เป็นเหตุให้สมณะบางพวก มัวหมองไม่ผ่องใส ไม่งามสง่า ไม่รุ่งเรือง มี ๔ อย่างดังนี้แล
อุปักกิเลสสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๐/๘๑.
สุนัขขี้เรื้อนอยู่ไม่สุข
“เห็นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”.
“ภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น เป็นโรคเรื้อนวิ่งไปมาบนแผ่นดินก็ ไม่เป็นสุข อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่เป็นสุข อยู่ในกลางแจ้งก็ไม่เป็นสุข เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ
ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน ถูกลาภสักการะและเสียง เยินยอครอบงำ ย่ำยีจิต อยู่ในเรือนว่างก็ไม่ยินดี อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่ยินดี อยู่ในที่แจ้งก็ ไม่ยินดี เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นสิ่งที่ทารุณ แสบเผ็ดหยาบคาย เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น แม้ลาภสักการะและเสียง เยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่ครอบงำจิตของเรา” เธอทั้งหลายพึงสำเนียกไว้อย่างนี้แล”
สิคาลสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๖๔/๒๗๐.
Friday, January 30, 2009
ช่างบาดลึกถึงใจ
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นสิ่งที่ทารุณ แสบเผ็ดหยาบคาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอย่อมบาดผิว ครั้นบาดผิวแล้วก็ย่อมบาดหนัง ครั้นบาดหนังแล้วย่อมบาดเนื้อ ครั้นบาดเนื้อแล้วย่อมบาดเอ็น ครั้นบาดเอ็นแล้วย่อมบาดกระดูก ครั้นบาดกระดูกแล้วก็ตั้งจดเยื่อใน กระดูกอยู่
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ทรงพลัง นำเอาเชือกมีคมอันหยาบมาพันแข้ง แล้วสีไปสีมา เชือกนั้นย่อมบาดผิว ครั้นบาดผิวแล้วย่อมบาดหนัง ครั้นบาดหนังแล้วย่อมบาดเนื้อ ครั้นบาดเนื้อแล้วย่อมบาดเอ็น ครั้นบาดเอ็นแล้วย่อมบาด กระดูก ครั้นบาดกระดูกแล้ว ย่อมตั้งจดอยู่ที่เยื่อในกระดูก ข้อนี้ฉันใด ลาภสักการะและเสียงเยินยอก็ฉันนั้น ...
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นสิ่งที่ทารุณ แสบเผ็ดหยาบคาย เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น แม้ลาภสักการะและ เสียงเยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่ครอบงำจิตของเรา” เธอทั้งหลายพึงสำเนียกไว้อย่างนี้แล
รัชชุสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๗๘/๒๘๑.
สมณะไม่ยินดีทองและเงิน
ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้ง ๕ ก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้ง ๕ ควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร
อนึ่ง เรากล่าวเปรียบอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้า พึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้ พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียน พึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการรู้จักตนเอง พึงแสวงหาตนเอง แต่เราไม่กล่าวถึงทองและเงินโดยปริยายไรๆ ว่า ‘เป็นสิ่งที่ควรยินดี ควรแสวงหา’ ไม่ว่ากรณีใดๆ
สัตตสติกขันธกะ, วิ.จู.๗/๔๔๘/๓๙๗.
Sunday, January 25, 2009
ว่าด้วยความสะอาดหมดจดแห่งอาชีวะ
Tuesday, January 20, 2009
บวชเสียข้าวสุก
ภิกษุนั้นคิดในใจว่า “ดีจริง คหบดีนี้ถวายอาหารให้เราอิ่มหนำด้วย ของเคี้ยวของฉันที่ประณีตด้วยมือตนเอง ถึงกับเราต้องบอกห้าม” ภิกษุนั้น ยังหวังต่อไปอีกว่า “โอหนอ แม้ในวันต่อ ๆ ไป คหบดีนี้ก็พึงถวายอาหารให้เราอิ่มหนำด้วยของเคี้ยวของฉันที่ประณีตอย่างนี้เถิด” เธอติดในรส ลุ่มหลงในรส สยบอยู่ด้วยความยินดีในรสอาหาร มองไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ขณะฉันอาหารอยู่นั้น เธอตรึกในกามบ้าง ตรึกในทางเคียดแค้นบ้าง ตรึกในทางเบียดเบียนบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย อาหารที่ถวายแก่ภิกษุเช่นนี้ เราไม่กล่าวว่ามีผลมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุเป็นผู้ประมาท หลงมัวเมาอยู่
เรือนที่ฝนไม่รั่วรด
Thursday, January 15, 2009
การขับร้องคือการร้องไห้ในอริยวินัย
กอดกองไฟยังประเสริฐกว่า
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า” ...
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอ การที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน ชุ่มด้วยราคะ หมักหมมเหมือนบ่อที่เทหยากเยื่อ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดหญิงสาวผู้มีฝ่ามือและเท้าอ่อนนุ่ม จะประเสริฐอะไร การเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟใหญ่โน้นที่กำลังลุกโชนโชติช่วงอยู่ นั่นยังจะดีเสียกว่าดี
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาจะพึงตายหรือทุกข์ปางตายด้วยเหตุที่ เข้าไปนั่ง กอดหรือนอนกอดไฟใหญ่ก็จริงอยู่ แต่หลังจากตายแล้ว เขาก็จะ ไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะการเข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดกองไฟนั้นเป็นเหตุ
ส่วนการที่บุคคลผู้ทุศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด ฯลฯ เข้าไปนั่งกอดหรือนอนกอดหญิงสาวผู้มีฝ่ามือและเท้าอ่อนนุ่ม ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เกื้อกูลแก่เขาตลอดกาลนาน และหลังจากตายแล้ว เขาย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก”
อัคคิกขันโธปมสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๒/๑๕๘.
เรือนกายอันเป็นประดุจซากศพ
ก็เมื่อใดร่างกายนั้นตายไป ขึ้นพอง มีสีเขียวคล้ำ ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า เมื่อนั้น ญาติทั้งหลายย่อมหมดความอาลัยไยดี สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก หมาป่า หมู่หนอน กา แร้ง และสัตว์เหล่าอื่น ย่อมกัดกินกายอันเปื่อยเน่านั้น
กายนี้มีสองเท้า ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ ขับถ่ายของไม่สะอาดมีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้นให้ไหลออกจากทวารทั้งเก้า และ ขับเหงื่อไคลให้ไหลออกจากขุมขนนั้นๆ ต้องคอยบำรุงรักษาอยู่เสมอ ผู้ใด พึงสำคัญเพื่อยกย่องตัวหรือพึงดูหมิ่นผู้อื่น จะมีประโยชน์อะไร นอกจากการไม่เห็นอริยสัจ
Saturday, January 10, 2009
บ่วงรวบรัดแห่งมาร
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นรูปอื่น...เสียงอื่น...กลิ่นอื่น...รสอื่น..โผฏฐัพพะอื่น สักอย่างเดียว ที่จะก่อให้เกิดความกำหนัด เกิดความใคร่ เกิดความมัวเมา เกิดความผูกพัน เกิดความหมกมุ่น ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมที่เป็น แดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะของสตรีเลย
สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น พัวพัน ในรูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะของสตรี ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
สตรีแม้เดินอยู่ก็ครอบงำจิตของบุรุษได้ แม้ยืนอยู่...แม้นั่งอยู่...แม้นอนอยู่...แม้หลับอยู่...แม้หัวเราะอยู่...แม้พูดอยู่...แม้ขับร้องอยู่...แม้ร้องไห้อยู่...แม้พองขึ้น...แม้ตายแล้ว ก็ย่อมครอบงำจิตบุรุษได้
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งที่เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร ก็พึง กล่าวถึงมาตุคามนั่นแหละว่า ‘เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร’
มาตาปุตตสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕๕/๙๔.
เมื่อไม่มีหินทับหญ้า
ท่านพระมหาโกฏฐิกะ ได้กล่าวกะท่านพระจิตตหัตถิสารีบุตรว่า
“บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นดุจผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อม เรียบร้อย ตลอดเวลาที่อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็น ครูรูปใดรูปหนึ่งอยู่ แต่ว่าเมื่อใดเขาหลีกออกไปจากพระศาสดา หลีกออกไปจากเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นครู เมื่อนั้น เขาย่อมคลุกคลีอยู่ กับเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกเดียรถีย์อยู่ เมื่อเขาคลุกคลีอยู่ด้วยหมู่ ปล่อยจิต ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบคุย ราคะย่อมรบกวนจิตเขา เขามีจิตถูกราคะรบกวน ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์
เปรียบเหมือนโคที่เคยกินข้าวกล้า ถูกเขาผูกไว้ด้วยเชือกหรือขังไว้ ในคอก ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ โคตัวที่เคยกินข้าวกล้านี้ จักไม่ลง กินข้าวกล้าอีก’ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือ ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้อนี้ไม่เป็น เช่นนั้น แต่เป็นไปได้ที่โคที่เคยกินข้าวกล้าตัวนั้น พึงดึงเชือกขาดหรือ แหกคอกแล้วลงไปกินข้าวกล้าอีก”
หัตถิสารีปุตตสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๖๐/๕๕๔.
Monday, January 5, 2009
ผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน
ดูก่อนมิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ...เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ...กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ...รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ...โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ...ธรรมารมณ์ที่จะพึงรู้แจ้งทางใจ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี กล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์นั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความ กำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่กับเพื่อน
ดูก่อนมิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ที่เป็นป่าโปร่งและป่าทึบอันเงียบสงัด ไม่อื้ออึง ปราศจากการสัญจรไปมาของผู้คน ควรเป็นที่ทำการลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่หลีกเร้นก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ยังเรียกว่ามีปกติอยู่กับเพื่อน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้น ยังมีตัณหาเป็นเพื่อน เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติ อยู่กับเพื่อน
ปฐมมิคชาลสูตร, สํ.สฬา.๑๘/๖๓/๕๓.
ลิงโง่ติดตัง
ภิกษุทั้งหลาย ... พวกนายพรานวางตังเหนียวไว้ที่ทางเดินของฝูงลิง เพื่อดักลิงบรรดาลิงเหล่านั้น ลิงตัวใดไม่เป็นลิงโง่ ไม่ลอกแลก มันเห็นตัง เหนียวนั้นแล้วย่อมหลีกห่างไกล ส่วนลิงตัวใดเป็นลิงโง่ ลอกแลก มันเข้าไป ใกล้ตังเหนียวนั้นแล้ว ก็เอามือจับดู มือนั้นก็ติดตัง มันคิดจะดึงมือออก จึงเอามืออีกข้างหนึ่งจับ มือข้างนั้นก็เลยติดตังไปด้วย มันจึงคิดจะเปลื้องมือทั้งสองออก จึงเอาเท้าข้างหนึ่งยัน เท้านั้นก็ติดตัง ครั้นแล้วมันจึงเอาเท้าที่ เหลือยัน เท้านั้นก็ติดที่ตังนั้นอีก มันคิดตามประสาของมันว่าจักดึงมือ และเท้าที่กำลังติดตังออก จึงได้เอาปากกัด แต่แล้วปากนั้นก็ติดตังอีก
ลิงตัวนั้นติดตัง ๕ แห่งอย่างนี้แล้ว ก็นอนทอดถอนใจ ถึงความพินาศ ย่อยยับแล้ว ถูกนายพรานทำได้ตามใจปรารถนา นายพรานแทงลิงตัวนั้นออก แล้วยกแขวนไว้ในที่นั้นเอง ไม่ให้หลุดไปแล้วจึงหลีกไปตามต้องการ เพราะ เหตุที่ลิงนั้นเที่ยวไปในถิ่นอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากิน มันถึงได้เป็นเช่นนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในถิ่นอื่นซึ่งมิใช่วิสัยควรเที่ยวไป เมื่อเธอเที่ยวไปในถิ่นอื่นที่เป็นอโคจร มารจักได้ช่องทาง ได้โอกาสทำลายตามอำเภอใจ ถิ่นอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุเป็นอย่างไร คือกามคุณ ๕ อันได้แก่รูปที่จะพึงเห็นด้วยตา, เสียงที่จะพึงฟังด้วยหู, กลิ่น ที่จะพึงดมด้วยจมูก, รสที่จะพึงลิ้มด้วยลิ้น, สัมผัสที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
ภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือถิ่นอื่นที่เป็นอโคจร ซึ่งมิใช่วิสัยที่ภิกษุควรเที่ยวไปเลย
มักกฏสูตร, สํ.ม.๑๙/๓๗๓/๒๑๘.