Sunday, November 30, 2008

ผู้ยังอ่อนต่อโลก

ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลายหมกมุ่นอยู่ในกาม กุลบุตรผู้ละเคียวและคานหาบหญ้าออกบวชเป็นบรรพชิต ควรเรียกว่า ‘กุลบุตรผู้มีศรัทธาออกบวช’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเขาควรได้กามด้วยความเป็นหนุ่ม และกามเหล่านั้นก็มีอยู่ตามสภาพ คือ เลว ปานกลางและประณีต แต่กามทั้งหมดก็นับว่าเป็น ‘กาม’ ทั้งนั้น

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย เอาชิ้นไม้หรือ ชิ้นกระเบื้องใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึง ใส่ใจในเด็กนั้นทันที แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถนำออกโดยเร็วได้ ก็พึงเอามือซ้ายจับ งอนิ้วมือข้างขวา แล้วแยงเข้าไปนำออกมาทั้งที่ยังมีโลหิต
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความลำบากนั้นจะมีแก่เด็ก เราไม่กล่าวว่า ‘ไม่มีความลำบาก’ และพี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์เกื้อกูลอนุเคราะห์ พึงทำ อย่างนั้นด้วยความอนุเคราะห์ แต่เมื่อใด เด็กนั้นเจริญวัย มีปัญญาสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้นได้ว่า ‘บัดนี้ เด็กมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่พลั้งพลาดอีก’ ฉันใด

ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ที่เราต้องรักษาเธอ ตลอดเวลาที่เธอยังไม่กระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยวิริยะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม
กามสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๗/๙.

คมดาบใต้สังฆาฏิ



ภิกษุทั้งหลาย มหาชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ ดังนี้ ก็เธอทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นอะไร’ ก็ประกาศตนว่า ‘เราเป็นสมณะ’ เมื่อเธอทั้งหลายมีชื่อว่า ‘สมณะ’ และปฏิญญาว่า ‘เป็นสมณะ’ ก็ควรสำเหนียกว่า “ข้อปฏิบัติอันใดเป็นข้อปฏิบัติสมควรแก่สมณะ เราจักปฏิบัติ ตามข้อปฏิบัติอันนั้น เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ คำปฏิญญาว่า ‘เป็นสมณะ’ ของเรา ก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น เราบริโภคใช้สอย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ทานของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย และการบรรพชาของเราเอง ก็จักไม่เป็นหมันเปล่า แต่จักมีผลมีกำไร ...



ส่วนภิกษุผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ...ยังละกิเลสซึ่งเป็นมลทินของสมณะไม่ได้ ... ก็เปรียบเหมือนอาวุธอันคมกล้า มีคมสองข้าง ที่ชุบและลับไว้อย่างดีแล้ว สอดไว้ในฝัก คือผ้าสังฆาฏิของภิกษุนั้นเอง ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการบรรพชาของภิกษุนี้ว่า เปรียบได้กับอาวุธมีคม สองข้างนั้น ฉันนั้น ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า ความเป็นสมณะมีได้เพราะเหตุสักว่าการทรงสังฆาฏิ...
จูฬอัสสปุรสูตร, ม.มู.๑๒/๔๓๕/๔๖๔.


เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์



“ท่าน จงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์ มุนีไม่ละกาม ย่อมเข้าไม่ถึงความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้
ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริง ๆ พึงบากบั่น ทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งโปรยโทษดุจธุลี
ความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง ก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้ว ประเสริฐกว่า
หญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น



กรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมอง และพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจ ทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก



...ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงศึกษา เล่าเรียน ทรงจำตายนคาถานี้ไว้ ภิกษุทั้งหลาย ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
ตายนสูตร, สํ.ส.๑๕/๘๙/๙๕.


พิษร้ายของกาม




กามทั้งหลาย มีความพอใจน้อย มีทุกข์มาก ทุกข์อื่นยิ่งกว่ากามไม่มี ชนเหล่าใดซ่องเสพกามทั้งหลาย ชนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก



เหมือนดาบที่ลับคมดีแล้วเชือด เหมือนกระบี่ที่ขัดดีแล้วแทง เหมือนหอกที่พุ่งปักอก เจ็บปานใด กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น



หลุมถ่านเพลิงลุกโพลงที่ลึกกว่าชั่วบุรุษ ผาล (เหล็กสวมไถ) ที่เขาเผาร้อนอยู่ตลอดวัน ร้อนปานใด กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น



เหมือนยาพิษที่ร้ายแรง น้ำมันที่เดือดพล่าน ทองแดงที่กำลังละลายคว้าง ร้อนปานใด กามทั้งหลายเป็นทุกข์ยิ่งกว่านั้น



ปานียชาดก, ๒๗/๖๙-๗๒/๓๖๕-๓๖๖.


Tuesday, November 25, 2008

ว่าด้วยการสำรวมระวังในพระปาติโมกข์

เธอนั้นครั้นบวชแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยมารยาทและโคจร(การเที่ยวไป) มีปรกติเห็นภัยในโทษ แม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรมและวจีกรรมอันเป็นกุศล

สามัญญผลสูตร, ที.สี. ๙ /๑๙๓/๖๕.

เหตุที่ทำให้บวชได้ไม่นาน (๔)




กุลบุตรบางคน ในโลกนี้มีศรัทธาออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต... เธอบวชแล้วอย่างนี้ ในเวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม(สตรี)ในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ราคะย่อมรบกวนจิตของเธอเพราะเห็นมาตุคามนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิตฟุ้งซ่าน เพราะราคะ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ มาตุคามนี้แล ชื่อว่าภัย จากปลาร้าย
อูมิภยสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๒๒/๑๘๖.

เหตุที่ทำให้บวชได้ไม่นาน (๓)




กุลบุตรบางคน ในโลกนี้มีศรัทธาออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต...เธอบวชแล้วอย่างนี้ ในเวลาเช้านุ่งห่มแล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย วาจา ใจ มีสติไม่ตั้งมั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคหบดีในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ด้วยกามคุณ ๕



เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ เพียบพร้อมบำเรอตนอยู่ ด้วยกามคุณ ๕ ก็โภคทรัพย์ในตระกูลของเราก็มีอยู่พร้อม เราสามารถที่จะ ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้” เธอจึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ กามคุณ ๕ นี้แล ชื่อว่า ภัยจากน้ำวน
อูมิภยสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๒๒/๑๘๖.


Thursday, November 20, 2008

เหตุที่ทำให้บวชได้ไม่นาน

กุลบุตรบางคน ในโลกนี้มีศรัทธาออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า “เราถูกความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความ คร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ทั้งหมดนี้ จะพึงปรากฏ”
เธอบวชแล้วอย่างนี้ เพื่อนสพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนว่า “ท่านพึง ก้าวไปอย่างนั้น พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้ พึงเหลียวอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร อย่างนี้”

เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ มีแต่จะตักเตือนสั่งสอนผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้มีอายุคราวลูกคราวหลานของเรา ยังจะมาตักเตือนพร่ำสอนเรา” เธอขุ่นเคืองไม่พอใจ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ความโกรธและความคับแค้นใจนี้แล ชื่อว่า ภัยจากคลื่น
อูมิภยสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๑๒๒/๑๘๔.




กุลบุตรบางคน ในโลกนี้มีศรัทธาออกบวชจากเรือนเป็นบรรพชิต...เธอบวชแล้วอย่างนี้ เพื่อนสพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนว่า “สิ่งนี้ท่านควรฉัน สิ่งนี้ไม่ควรฉัน สิ่งนี้ควรบริโภค สิ่งนี้ไม่ควรบริโภค สิ่งนี้ควรลิ้ม สิ่งนี้ไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้ควรดื่ม สิ่งนี้ไม่ควรดื่ม สิ่งเป็นกัปปิยะ(สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ให้ภิกษุใช้หรือฉันได้) ท่านควรฉัน สิ่งเป็นอกัปปิยะ(สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉัน) ท่านไม่ควรฉัน....


เธอคิดอย่างนี้ว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ ต้องการสิ่งใดก็เคี้ยวกินสิ่งนั้น ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่ไม่ต้องการ...กินทั้งสิ่งที่เป็นกัปปิยะและอกัปปิยะ...กินทั้งในเวลาและนอกเวลา...สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของบริโภค ที่คหบดีผู้มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในเวลากลางวันและในเวลาวิกาล ภิกษุ เหล่านี้ทำเหมือนปิดปากของเราแม้ในของเหล่านั้น” เธอขุ่นเคืองไม่พอใจ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ ความเป็นผู้เห็นแก่ปากท้องนี้แล ชื่อว่า ภัยจากจระเข้

เหตุใดจึงคิดลาสิกขา ?



ต้นไม้ใหญ่ ที่มีกาฝากกอใหญ่ขึ้นเกาะปกคลุม เป็นเหตุให้ล้ม ระเนระนาดไป เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ที่มีกาฝาก กอใหญ่ขึ้นเกาะปกคลุมเป็นเหตุให้ล้มหักลง ฉันใด



กุลบุตรบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ละกามเช่นใดแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต กุลบุตรนั้นกลับเป็นผู้เสียหาย วิบัติไปด้วยกามเช่นนั้น หรือสิ่งที่เลวกว่านั้น ภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ครอบงำจิตแล้ว ย่อมทอน กำลังปัญญา
รุกขสูตร, สํ.ม. ๑๙/๒๑๙/๑๔๙.

ทำอย่างไรจึงจะบวชได้ตลอดชีวิต ?


ภิกษุรูปหนึ่ง กล่าวกับท่านพระสารีบุตรว่า “ท่านสารีบุตร ภิกษุ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่านบอกคืนสิกขากับมาเป็นคฤหัสถ์เสียแล้ว”

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ผู้มีอายุ ภิกษุผู้ที่ไม่คุ้มครองทวาร ในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุ ผู้ที่ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ จักสืบต่อพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต

ผู้มีอายุ ข้อที่ภิกษุนั้นคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ จักสืบต่อพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิตนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้”
สารีปุตตสัทธิวิหาริกสูตร, สํ.สฬา. ๑๘/๑๒๐/๑๔๑.

เหตุใดพระหนุ่มบางรูปบวชได้ตลอดชีวิต ?



พระเจ้าอุเทน ตรัสถามพระปิณโฑลภารทวาชะว่า
“อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุที่ยังหนุ่มแน่น ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย สามารถบวชประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน”



พระปิณโฑลภารทวาชะตอบว่า
“ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ดังนี้ว่า
มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งจิตไว้ในสตรีปูนมารดาว่า เป็นมารดา ตั้งจิตไว้ในสตรีปูนพี่สาวน้องสาวว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ตั้งจิตไว้ ในสตรีปูนบุตรสาวว่าเป็นบุตรสาว



ภิกษุทั้งหลาย (ถ้ายังไม่ได้ผล) เธอทั้งหลายจงพิจารณากายนี้ เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องล่างตั้งแต่ปลายผมลงมา อันมีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่ามีอยู่ในกายนี้แล คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร ดังนี้


ภิกษุทั้งหลาย (ถ้าทำอย่างนั้นแล้วยังไม่ได้ผล) เธอทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นรูปทางตา...ฟังเสียงทางหู... ดมกลิ่นทางจมูก...ลิ้มรสทางลิ้น...รับสัมผัสทางกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์เหล่านั้น นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุที่ยังหนุ่มแน่น ยังไม่หมดความระเริงในกามทั้งหลาย สามารถบวชประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติ อยู่ได้นาน”



ภารทวาชสูตร, สํ.สฬา. ๑๘/๑๒๗/๑๕๒.


Wednesday, November 12, 2008

ควรบวชเมื่อยังหนุ่มหรือเมื่อแก่แล้วค่อยบวช ?




คนหนุ่ม ควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม การบรรพชาควรเป็นของคนหนุ่ม ข้อนั้นท่านผู้แสวงหาคุณธรรมทั้งหลายสรรเสริญแล้ว...อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ต้องการราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลายผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รัก อันได้มาโดยยาก ยังไม่ทันแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของ ท่านทั้งหลายที่สวยงามน่าชม สิ้นชีวิต เหมือนหน่อไม้ไผ่ยังอ่อนที่ถูกถอน



จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตาม แม้จะยังหนุ่มสาวก็ต้องตายทั้งนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตว่า เรายังหนุ่มอยู่ อายุของคนเราเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาว ในวัยนั้น จักทำอะไรได้ สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพใน ราชสมบัติทำไม
เตมิยชาดก, ขุ.ชา.๒๘/๙๗-๑๐๓/๑๙๘.

บวชเมื่อแก่จะหวังอะไร ?




ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ หาได้ยาก ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ที่เป็นผู้ว่าง่าย หาได้ยาก ๑ ที่เป็นผู้คงแก่เรียน หาได้ยาก ๑ ที่เป็นผู้รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ หาได้ยาก ๑ ที่เป็นธรรมกถึก หาได้ยาก ๑ ที่เป็นวินัยธร หาได้ยาก ๑



ทุติยวุฑฒปัพพชิตสูตร, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๖๐/๑๐๙.

บวชแต่กาย...ไม่บวชใจจะไหวหรือ ?



ดูก่อนราชกุมาร... เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบก ห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิด ความร้อนขึ้น’ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า ข้อนี้ฉันใด
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม มีความใคร่ ความหลง ความกระหาย ความเร่าร้อนเพราะกาม ยังมิได้ละและมิได้ทำให้สงบระงับในภายใน สมณะพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็งเผ็ดร้อน ซึ่งเกิดเพราะความเพียรก็ดี หรือแม้มิได้เสวยทุกขเวทนาเช่นนั้นก็ดี ก็เป็น ผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันเยี่ยม
โพธิราชกุมารสูตร, ม.ม.๑๓/๓๓๐/๓๙๙.

นักบวชมุ่งแสวงหาอะไร ?



ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้มิใช่มีลาภสักการะและเสียงสรรเสริญเป็นอานิสงส์(ผลที่มุ่งหมาย) มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
ภิกษุทั้งหลาย ก็เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบ (ความหลุดพ้นจากกิเลส) อันใดมีอยู่ พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุตตินั่นแหละเป็นเป้าหมาย เป็นแก่นสาร เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์



มหาสาโรปมสูตร, ม.มู. ๑๒/๓๑๑/๓๔๘.

คิดอย่างไรจึงตัดใจออกบวช ?


ดูก่อนภารทวาชะ ก่อนแต่การตรัสรู้ เรายังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส การบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดย ส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดดีแล้วนั้น ไม่ใช่ทำได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด” ในกาลต่อมา เรานั้นยังเป็นหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในปฐมวัย เมื่อมารดาและบิดาไม่ปรารถนาจะให้บวช ร้องไห้คร่ำครวญน้ำตานองหน้า เราปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วก็แสวงหา ว่าอะไรเป็นกุศล แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า

สังคารวสูตร, ม.ม. ๑๓/๔๗๕/๖๐๐.

บทนำ



มิใช่เรื่องง่ายนัก ที่ใครสักคนหนึ่งจะกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว เข้ามาบวชถวายชีวิตในบวรพระพุทธศาสนา หากว่ามิได้มีเป้าหมาย และมโนปณิธานอันสูงส่ง ในอันที่จะมุ่งขจัดขัดเกลากิเลส ฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ การบวชถวายชีวิตเช่นนี้ก็คงยาก ที่จะบังเกิดขึ้นได้



นักรบใหม่จำนวนไม่น้อย ต่างก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในยอดนักรบแนวหน้าแห่งกองทัพธรรม แต่ในบรรดานักรบเหล่านั้น จะมีสักกี่คนที่สามารถจะรักษาอุดมการณ์นั้นไว้ได้ตราบสิ้นลมหายใจ



“ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ภาษิตนี้ยังคงใช้ได้ดีเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักบวชผู้มีภารกิจสำคัญ เป็นภารกิจทางใจที่มุ่ง ไปปราบมารประหารกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ฉะนั้น จึงยังคงมี หน้าที่อันยิ่งใหญ่ ซึ่งหนักหน่วงและท้าทาย รอคอยอยู่ตลอดเส้นทาง ที่ย่างก้าวไป



ด้วยตระหนักดีว่า พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมา--สัมพุทธเจ้า และโอวาทของครูบาอาจารย์ คือขุมทรัพย์ทางปัญญา อันยิ่งใหญ่ ที่จะเป็นดุจประทีปส่องสว่างหนทางสายกลาง บทความ “พระแท้ 24 น.” เล่มนี้ จึงบังเกิดขึ้น ด้วยความตั้งใจจริงของพระภิกษุเถระทุกรูป ที่ปรารถนาจะมอบธรรมาวุธคู่ใจให้แด่พระรุ่นน้อง ไว้เพื่อทำหน้าที่ ปลุกปลอบใจในยามที่อ่อนล้า เป็นกำลังใจในยามท้อถอย และคอย เตือนใจในยามประมาทพลั้งเผลอ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกๆ รูปได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเองให้กลั่นกล้ายิ่งๆ ขึ้นไป กระทั่งได้เข้าถึง พระธรรมกาย และได้ศึกษาวิชชาธรรมกายซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ของการเข้ามาบวช ณ วัดพระธรรมกายแห่งนี้
ท้ายที่สุดนี้ พี่ๆ ทุกรูปปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็นพระรุ่นน้องๆ ที่ตามมาในภายหลัง ได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางการสร้างบารมี ซึ่งมี พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยเป็นผู้นำ อย่างมั่นคงและปลอดภัย ไปจนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม.