Tuesday, December 30, 2008

เต่าฉลาดรู้


ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีเต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่ง แม่น้ำในเวลาเย็น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งผ่านมา พอเต่าเห็นสุนัขจิ้งจอกมา แต่ไกล ก็รีบหดอวัยวะทั้ง ๕ คือหัว ขาและคอเข้ากระดองของตนเสีย ไม่ เคลื่อนไหว นิ่งอยู่ ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็เห็นเต่าเที่ยวหากินแต่ไกลเหมือนกัน จึงเข้าไปหาเต่าแล้วยืนอยู่ใกล้ๆ คิดว่า ‘เมื่อใดเต่าตัวนี้โผล่อวัยวะส่วนใด ส่วนหนึ่งออกมา เมื่อนั้นเราจักงับมันฟาดแล้วกัดกินเสีย ในที่นั้น’ แต่เมื่อใดเต่าไม่โผล่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งออกมา เมื่อนั้นสุนัขจิ้งจอกก็เบื่อหนาย ไม่ได้โอกาส เดินจากเต่าไป

ภิกษุทั้งหลาย มารผู้ใจบาปเข้าใกล้พวกเธออยู่เสมอ ๆ ด้วยคิดว่า ‘บางทีเราจะพึงได้โอกาสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ของภิกษุเหล่านี้’ เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายจงคุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลายเถิด เห็นรูปทางตาแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อ สำรวมอินทรีย์เหล่านั้น ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรม อันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเธอทั้งหลายจักคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย อยู่ เมื่อนั้น มารผู้ใจบาปก็จักหมดอาลัย ไม่ได้ช่อง ไม่ได้โอกาส หลีกจาก ท่านทั้งหลายไป ดุจสุนัขจิ้งจอกหลีกห่างจากเต่าไป ฉันนั้น
กุมโมปมสูตร, สํ.สฬา.๑๘/๒๔๐๒๔๑.

แมวซ่าเสียท่าลูกหนู


ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว แมวตัวหนึ่งยืนคอยจ้องจับลูกหนูอยู่ที่กองขยะริมฝาเรือน ด้วยหวังว่า ‘ลูกหนูจักออกไปหาเหยื่อในที่ใด เราจักจับมันกินเสียในที่นั้น’ ต่อมา ลูกหนูออกไปหาเหยื่อ แมวนั้นก็รีบตะครุบลูกหนู แล้วกลืนกินทั้งเป็นอย่างรวดเร็ว ลูกหนูก็กัดไส้ใหญ่และไส้น้อยของแมวนั้น แมวนั้นจึงถึงแก่ความตาย หรือได้รับทุกข์ปางตาย เพราะการกินลูกหนูนั้น

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน เวลาเช้าครองจีวรถือบาตรเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้านหรือนิคม ไม่รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติไว้ให้มั่นคง ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย ครั้นเธอเห็นมาตุคามนุ่งห่มไม่เรียบร้อยในที่นั้น ราคะก็เสียบแทงจิตของเธอ ภิกษุนั้นมีจิตถูกราคะเสียบแทงแล้ว จึงถึงแก่ ความตายหรือทุกข์ปางตาย การที่เธอบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ นั้นแหละ จัดเป็นความตายในอริยวินัย การที่เธอต้องอาบัติเศร้าหมอง อย่างใดอย่างหนึ่ง และการประพฤติวัตรเพื่อออกจากอาบัตินั้น จัดเป็น ทุกข์ปางตาย
พิฬารสูตร, สํ.นิ.๑๖/๒๓๒/๓๒๑.

นกมูลไถสยบเหยี่ยว

ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถโดยรวดเร็ว ขณะนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้คร่ำครวญอย่างนี้ว่า “เราเป็น ผู้อับโชค มีบุญน้อย ที่เที่ยวไปในถิ่นอื่นซึ่งมิใช่ถิ่นหากิน ถ้าวันนี้ เราไปเที่ยวกินในถิ่นหากินที่เป็นของบิดาเราไซร้ เราก็อาจสู้เหยี่ยวตัวนี้ได้”


เหยี่ยวจึงถามว่า “แน่ะเจ้านกมูลไถ ก็ถิ่นหากินที่เป็นของบิดาเจ้าเป็น เช่นไร”
นกมูลไถตอบว่า “ก็ถิ่นที่เป็นก้อนดินที่เขาทำการไถไว้อย่างไรหล่ะ”

ขณะนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะโอ้อวดกำลังของตน จึง ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมกับบอกว่า “ไปเถิด เจ้านกมูลไถ ถึงเจ้าจะไปในที่นั้นก็หนีไม่พ้นเราไปได้” ทีนั้นนกมูลไถจึงไปยังที่ ๆ มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ จับที่ดินก้อนใหญ่ ยืนร้องท้าเหยี่ยวอยู่ว่า “เจ้าเหยี่ยว เจ้าจงมาจับเราเดี๋ยวนี้”


ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะอวดอ้างกำลังของตน จึงหุบปีกทั้ง ๒ ลงโฉบนกมูลไถอย่างรวดเร็ว เมื่อนกมูลไถรู้ว่า “เหยี่ยวนี้โฉบลงมาเร็วหมายจะจับเรา” จึงหลบเข้าซอกก้อนดินนั้น เป็นเหตุให้เหยี่ยวอก

กระแทกดิน ตายในที่นั้นเอง

ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่นซึ่งมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เพราะมารจักได้ช่อง ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุคืออะไร คือ กามคุณ ๕ ได้แก่รูป...เสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด...นี้คือ ถิ่นอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปถิ่นที่เป็นของบิดาตนอันเป็นโคจร เพราะมารจักไม่ได้ช่อง จักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาอันเป็นโคจรคืออะไร คือสติปัฏฐาน ๔
สกุณัคฆิสูตร, สํ.ม. ๑๙/๓๗๒/๒๑๗.

Thursday, December 25, 2008

ไม่มองเสียเลยดีกว่า


ท่านพระอานนท์ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ อย่ามองเสียเลยดีกว่า อานนท์”
“เมื่อจำเป็นต้องมอง จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“อย่าพูดด้วย อานนท์”
“เมื่อจำเป็นต้องพูดด้วย จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
“ต้องตั้งสติไว้ อานนท์”
มหาปรินิพพานสูตร, ที.ม.๑๐/๒๐๓/๑๕๑.

ว่าด้วยการสำรวมอินทรีย์

ภิกษุทั้งหลาย กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก เป็นอย่างไร คือเธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ได้เห็นรูปทางตา...ฟังเสียงทางหู...ดมกลิ่นทางจมูก...ลิ้มรสทางลิ้น...รับสัมผัสทางกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว จักไม่รวบถือโดยนิมิต จักไม่แยกถือโดย อนุพยัญชนะ บาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัส มักไหลไปตามบุคคล เพราะไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ เราจักปฏิบัติเพื่อปิดกั้นอินทรีย์เหล่านั้นไว้ จักทำการรักษาสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย

มหาอัสสปุรสูตร, ม.มู. ๑๒/๔๒๑/๔๕๕.

Saturday, December 20, 2008

พระเถระที่ไม่น่าสรรเสริญ




พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “กัสสปะ ภิกษุแม้เป็นเถระแล้ว แต่ไม่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาไตรสิกขา (สีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา) ด้วยตนเอง ไม่สรรเสริญการเอาใจใส่ในการศึกษา เธอไม่ชักชวนภิกษุที่ไม่รักการศึกษาให้รักการศึกษา และไม่สรรเสริญคุณของภิกษุผู้รักการปฏิบัติในไตรสิกขาตามโอกาสอันสมควร เราตถาคตย่อมไม่สรรเสริญภิกษุเถระเช่นนี้



ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะภิกษุทั้งหลายจะหลงคบภิกษุเถระเช่นนี้เข้า โดยคิดว่า ‘พระศาสดาก็ยังสรรเสริญภิกษุเช่นนี้’ ภิกษุพวกที่คบหา ภิกษุเถระเช่นนั้นเข้า ก็จะพากันทำตามอย่างเธอ ข้อนั้นพึงเป็นไปเพื่อ ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ภิกษุเหล่านั้นตลอดกาลนาน เพราะเหตุนั้น เราจึง ไม่สรรเสริญคุณของภิกษุเถระเช่นนี้”
ปังกธาสูตร, องฺ.ติก.๒๐/๙๒/๓๒๒.


พระเถระที่ชักพาให้เสื่อม

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้คนหมู่มากเสื่อม เพื่อความฉิบหายแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

[๑] เป็นพระเถระรัตตัญญู บวชมานาน มีพรรษากาลมาก
[๒] เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมาก มียศ มีบริวารมาก ปรากฏแก่ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต
[๓] เป็นผู้มากด้วยลาภ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
[๔] เป็นพหูสูต ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว สั่งสมธรรมที่ฟังแล้วมาก เป็นผู้ได้ฟังมาก...แล้วทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดซึ่งธรรมเหล่านั้นด้วยทิฏฐิ
[๕] (แต่ทว่า) เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต

ภิกษุนั้นทำคนหมู่มากให้เลิกละจากพระสัทธรรม ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม คนหมู่มากพากันตามอย่างภิกษุนั้น เพราะคิดว่า ‘เป็นพระเถระรัตตัญญู’ บ้าง ‘เป็นภิกษุผู้มีชื่อเสียง’ บ้าง ‘เป็นภิกษุเถระผู้มากด้วยลาภ’ บ้าง ‘เป็นภิกษุเถระผู้เป็นพหูสูต‘ บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระที่ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้คนหมู่มากเสื่อม เพื่อความฉิบหายแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์ เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เถรสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๘๘/๑๕๖.

พระเถระที่ไม่น่าเอาอย่าง




ภิกษุทั้งหลาย ในอนาคตจักมีหมู่ภิกษุซึ่งมิได้อบรมกาย มิได้อบรมศีล มิได้อบรมจิต และมิได้อบรมปัญญา ทั้งที่เป็นภิกษุผู้เถระแล้ว ยังเป็นผู้สะสมบริขาร เป็นผู้ย่อหย่อนในไตรสิกขา เป็นผู้นำในทางทราม ทอดธุระใน พระนิพพาน จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง


ผู้บวชในภายหลังเห็นแบบอย่างของพระเถระเหล่านั้นแล้ว ก็จะพากันตามอย่าง จึงทำให้เป็นผู้สะสมบริขาร เป็นผู้ย่อหย่อนในไตรสิกขา เป็นผู้นำ ในทางทราม ทอดธุระในพระนิพพาน จักไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ ทำให้แจ้ง
นี้เป็นภัยในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นในบัดนี้ แต่จักเกิดขึ้นในกาลต่อไป เธอทั้งหลายพึงรับรู้ไว้ และพึงพยายามเพื่อกำจัดภัยเหล่านั้นเสีย
ตติยอนาคตภยสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๗๙/๑๔๖.


Monday, December 15, 2008

สิ่งที่ควรพิจารณาเนืองๆ



ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ อันบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ธรรม ๑๐ ประการ อะไรบ้าง คือ บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า


[๑] บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ
[๒] ความเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย
[๓] อาการกายวาจาอย่างอื่น ที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้
[๔] ตัวของเราเอง ติเตียนตัวเราเองโดยศีลได้หรือไม่
[๕] ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่
[๖] เราจักต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น
[๗] เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว
[๘] วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่
[๙] เรายินดีในที่สงัดหรือไม่
[๑๐] คุณวิเศษของเรามีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินในเวลาเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้แล อันบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ
ปัพพชิตอภิณหสูตร, องฺ.ทสก. ๒๔/๔๘/๑๐๔.

Wednesday, December 10, 2008

น้ำตาที่น่าสรรเสริญ



ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป แม้มีความทุกข์กาย แม้มีความทุกข์ใจ ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ แต่ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญในปัจจุบัน ๕ ประการ คือ



[๑] เธอมีศรัทธาในกุศลธรรม
[๒] เธอมีหิริในกุศลธรรม
[๓] เธอมีโอตตัปปะในกุศลธรรม
[๔] เธอมีความเพียรในกุศลธรรม
[๕] เธอมีปัญญาในกุศลธรรม



ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูป แม้มีความทุกข์กาย แม้มี ความทุกข์ใจ ร้องไห้น้ำตานองหน้าอยู่ แต่ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้ บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ เธอย่อมถึงฐานะอันน่าสรรเสริญ ๕ ประการนี้แล ในปัจจุบัน
สิกขาสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๕/๗.


ขันน้ำที่ว่างเปล่า




พระผู้มีพระภาค ทรงคว่ำภาชนะน้ำ แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า
“ราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้ไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ราหุล นักบวชผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือน ภาชนะน้ำที่คว่ำแล้วอย่างนี้”.
จากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้นมา แล้วตรัสว่า
“ราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้ไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ราหุล นักบวชผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เหมือน ภาชนะน้ำที่ว่างเปล่าอย่างนี้...
ราหุล เรากล่าวว่า ชื่อว่ากรรมชั่วแม้เล็กน้อย ซึ่งนักบวชที่ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่จะทำไม่ได้ หามีไม่
ราหุล เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกไว้ในใจอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่กล่าวเท็จ แม้แต่เพื่อหัวเราะกันเล่น”
จูฬราหุโลวาทสูตร, ม.ม. ๑๓/๑๐๗/๑๑๗.