Friday, February 20, 2009

ภิกษุเห็นแก่ได้

ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดมีความคิดอย่างนี้ว่า “ขอชนทั้งหลายจงให้แก่เราเท่านั้น อย่าได้ไม่ให้เลย จงให้แก่เรามากๆ อย่าให้น้อยเลย จงให้แต่ของประณีตแก่เราเท่านั้น อย่าให้ของเศร้าหมอง จงรีบให้เราทันที อย่าให้ช้า จงให้เราโดยความเคารพ อย่าให้โดยไม่เคารพ” แล้วจึงเข้าไปสู่ตระกูล

เมื่อภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้เข้าไปสู่ตระกูล ชนทั้งหลายไม่ให้ ภิกษุ จึงอึดอัดเพราะสาเหตุนั้น เธอย่อมเสวยทุกข์โทมนัสเพราะสาเหตุนั้น... ภิกษุเช่นนี้ไม่สมควรเข้าไปสู่ตระกูล

กุลูปกสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๗/๒๓๙.

ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รัก

ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รัก ของผู้ถูกขอ ส่วนผู้ไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ก็ไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงไม่ขออะไร มหาบพิตร ขอความบาดหมางใจอย่าได้มีแต่อาตมภาพเลย

ก็ผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ แต่ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร ผู้นั้นย่อมทำลายผู้อื่นเสียจากบุญ ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้ด้วย

ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการขอ ขอสิ่งที่ควรขอ ทั้งขอในเวลาที่ควรขอ ผู้นั้นย่อมให้ผู้อื่นได้บุญด้วย ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วย

อัฏฐิเสนชาดก, ขุ.ชา. ๒๗/๕๕-๕๗/๒๖๔-๒๖๕.

Sunday, February 15, 2009

แสดงธรรมด้วยความบริสุทธิ์

ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุรูปใดมีความคิดอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใสธรรมของเรา และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว พึงทำอาการของผู้เลื่อมใสต่อเรา” จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์

ส่วนภิกษุรูปใดมีความคิดอย่างนี้ว่า “พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มี-- พระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่จำกัดกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงรู้ทั่วถึงธรรม และ ครั้นรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว จะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น” จึงแสดงธรรม แก่ชนเหล่าอื่น

เธออาศัยความที่พระธรรมเป็นธรรมดี จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความกรุณาจึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความเอ็นดูจึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น อาศัยความอนุเคราะห์จึงแสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่น ด้วยประการฉะนี้ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้แล ชื่อว่าบริสุทธิ์

จันทูปมาสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๖/๒๓๘.

จงเป็นเช่นพระจันทร์


“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกายพรากจิตออก (เว้นจากการตรึกถึงกามวิตกเป็นต้น) เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ (ทำตัวเหมือนอาคันตุกะเสมอ) เป็นผู้ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลเถิด เปรียบเหมือนบุรุษพึงพรากกาย พรากจิต แลดูบ่อน้ำซึ่งคร่ำคร่า ภูเขาที่ เป็นหลุมเป็นบ่อ หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ ฉันใด เธอทั้งหลายก็จงเป็น ประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่ เป็นนิจ เป็นผู้ ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลเถิด”

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงโบกฝ่าพระหัตถ์ในอากาศ ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ามือนี้ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในอากาศ ฉันใด จิตของภิกษุ ผู้เข้าไปสู่ตระกูล ไม่ข้อง ไม่ยึด ไม่ติดในตระกูล โดยคิดว่า ‘ผู้ปรารถนาลาภ จงได้ลาภ ส่วนผู้ปรารถนาบุญ จงทำบุญ’ ฉันนั้น

ภิกษุเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภอันเป็นของตน ฉันใด ก็จงเป็นผู้พอใจ ดีใจ ด้วยลาภของชนเหล่าอื่น ฉันนั้น ภิกษุเช่นนี้แล จึงควรเข้าไปสู่ตระกูล”

จันทูปมาสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๔๖/๒๓๗.

Tuesday, February 10, 2009

สมณะผู้ละเอียดอ่อน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยจีวรมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยจีวรน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงฉันบิณฑบาตมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงฉันน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยเสนาสนะน้อย เมื่อเขาขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารมาก เมื่อเขาไม่ขอร้องจึงใช้สอยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารน้อย...

ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงผู้ใดว่า ‘เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ’ บุคคลนั้นคือเรานั่นเอง ที่บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า “เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ

สมณสุขุมาลสูตร, องฺ.ปญฺจก.๒๒/๑๐๔/๑๘๐.

มหาโจรปล้นเมือง

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมอันไม่มีอยู่จริง ไม่ เป็นจริง จัดเป็นยอดมหาโจรในโลก...ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น ฉันก้อนข้าวของชาวเมืองด้วยอาการแห่งขโมย

ภิกษุใดมีภาวะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ประกาศตนให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็น อย่างอื่น บริโภคก้อนข้าวด้วยอาการแห่งขโมย ย่อมเป็นเช่นเดียวกับ นายพรานนก ล่อลวงนกแล้วจับกินฉะนั้น

ภิกษุชั่วจำนวนมากมีผ้ากาสาวพัสตร์คลุมที่คอ มีธรรมเลวทราม ไม่สำรวม ภิกษุเหล่านั้นย่อมไปเกิดในนรก เพราะบาปกรรมอันหยาบช้า ภิกษุทุศีลไม่สำรวม กินก้อนเหล็กแดงที่ร้อนเหมือนเปลวไฟยังจะดีกว่า บริโภคก้อนข้าวของชาวเมืองไม่ดีเลย

ปาราชิกกัณฑ์, วิ.ม.๑/๑๙๕/๑๘๑.

Thursday, February 5, 2009

ราคีบดบังราศีสมณะ

ภิกษุทั้งหลาย ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมมัวหมอง ไม่สุกใส ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง เพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ เมฆ, หมอก, ควันและฝุ่นละออง และราหู ผู้เป็นจอมอสูร

เช่นเดียวกันแล อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เป็นเหตุให้สมณะบางพวก มัวหมองไม่ผ่องใส ไม่งามสง่า ไม่รุ่งเรือง ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ

[๑] สมณะพวกหนึ่งยังดื่มสุราเมรัย ไม่เว้นขาดจากการดื่มสุราเมรัย
[๒] สมณะพวกหนึ่งยังเสพเมถุนธรรม ไม่เว้นขาดจากการเสพเมถุนธรรม
[๓] สมณะพวกหนึ่งยังยินดีในการมีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการ รับทองและเงิน
[๔] สมณะพวกหนึ่งเลี้ยงชีพด้วยมิจฉาชีพ ไม่เว้นขาดจากจากการ เลี้ยงชีพที่ผิดวิสัยของสมณะ

ภิกษุทั้งหลาย อุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่เป็นเหตุให้สมณะบางพวก มัวหมองไม่ผ่องใส ไม่งามสง่า ไม่รุ่งเรือง มี ๔ อย่างดังนี้แล

อุปักกิเลสสูตร, องฺ.จตุกฺก.๒๑/๕๐/๘๑.

สุนัขขี้เรื้อนอยู่ไม่สุข

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสุนัขจิ้งจอกแก่ที่มาอาศัยอยู่หรือ”

“เห็นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”.

“ภิกษุทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกตัวนั้น เป็นโรคเรื้อนวิ่งไปมาบนแผ่นดินก็ ไม่เป็นสุข อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่เป็นสุข อยู่ในกลางแจ้งก็ไม่เป็นสุข เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ

ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน ถูกลาภสักการะและเสียง เยินยอครอบงำ ย่ำยีจิต อยู่ในเรือนว่างก็ไม่ยินดี อยู่ที่โคนไม้ก็ไม่ยินดี อยู่ในที่แจ้งก็ ไม่ยินดี เดิน ยืน นั่ง นอนในที่ใดๆ ก็เป็นทุกข์ในที่นั้นๆ
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและเสียงเยินยอ เป็นสิ่งที่ทารุณ แสบเผ็ดหยาบคาย เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า “เราทั้งหลายจักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น แม้ลาภสักการะและเสียง เยินยอที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องไม่ครอบงำจิตของเรา” เธอทั้งหลายพึงสำเนียกไว้อย่างนี้แล”

สิคาลสูตร, สํ.นิ.๑๖/๑๖๔/๒๗๐.