Tuesday, May 5, 2009

โอวาท ทำพระนิพพานให้แจ้ง

เมื่อลูกได้บวชเป็นพระแล้ว ต้องมีวัตถุประสงค์เดียวเป็นหลัก คือทำพระนิพพานให้แจ้ง นอกนั้นเป็นเรื่องปลีกย่อยรองลงมา สิ่งนี้ต้องอยู่ในใจ ของลูกทุกรูป ถ้าไม่มีสิ่งนี้ บวชเป็นพระยากนะลูกนะ

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔


After you have ordained, you must have one objective: to attain Nibbana. Beyond this, other aims are secondary. It must be in every one of your hearts. If you do not have this goal, being a monk will be difficult.

7 October 2001

พุทธปัจฉิมโอวาท

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

มหาปรินิพพานสูตร, ที.ม.๑๐/๒๑๘/๑๑๖.

ผู้ปรารภความเพียร

ท่านพระสารีบุตร ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ท่านได้ สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคว่าอย่างไร”

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า “ข้าพเจ้าได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘ผู้ปรารภความเพียร ผู้ปรารภความเพียร’ ด้วยเหตุเท่าไรหนอ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ปรารภความเพียร’ เมื่อข้าพเจ้าทูลถามอย่างนี้ แม้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรด้วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า ‘จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที เลือดและเนื้อในร่างกายจงเหือดแห้งไปเถิด ผลอันใดที่จะพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุผลนั้นแล้วก็จักไม่หยุดความเพียร’ โมคคัลลานะ ภิกษุย่อมเป็นผู้ปรารภความเพียรอย่างนี้’ ข้าพเจ้าได้สนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคอย่างนี้...”

ฆฏสูตร, สํ.นิ. ๑๖/๒๓๗/๓๒๘.

Thursday, April 30, 2009

ตื่นเถิด...ภิกษุ


เทวดาตนหนึ่ง เอ็นดูภิกษุรูปหนึ่ง จึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้นขณะเธอนอนหลับกลางวัน แล้วกล่าวคาถาหวังจะให้เธอสลดใจว่า

“ท่านจงลุกขึ้นเถิดภิกษุ ท่านจะต้องการอะไรด้วยความหลับ ท่านผู้ เร่าร้อนด้วยกิเลส อันลูกศรคือตัณหาเสียบแทงดิ้นรนอยู่ จะมัวหลับอยู่ทำไม ท่านออกจากเรือนบวชด้วยความเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธาใด ท่านจง เพิ่มพูนศรัทธานั้นเถิด อย่าตกไปสู่อำนาจแห่งความหลับเลย”

อุปัฏฐานสูตร, สํ.ส. ๑๕/๒๒๒/๓๒๔.

ผู้มีความสงัดเป็นเพื่อน

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ประกอบความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ชอบคณะ ยินดีในคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักเป็นผู้อยู่รูปเดียว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบ ข้อนี้ย่อมเป็นไปมิได้เลย

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ประกอบความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่เป็นผู้ชอบคณะ ไม่ยินดีคณะ ไม่ประกอบความยินดีคณะ จักเป็นผู้อยู่รูปเดียว ยินดียิ่งในความสงัดเงียบ ข้อนี้ย่อมเป็นไปได้

สังคณิการามสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๖๘/๕๘๗.

Saturday, April 25, 2009

ผู้อยู่จบพรหมจรรย์


จิตของภิกษุ ผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ ผู้น้อมไปยังความสงัดแห่งใจ ผู้น้อมไปยังความสิ้นตัณหา ผู้น้อมไปยังความสิ้นอุปาทาน และผู้น้อมไปยังความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเพราะเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งอายตนะทั้งหลาย กิจที่ควรทำและการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้หลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบ

โสณสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๕๕/๕๓๘.

“สึก”...ทุกวัน

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีด ย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือนายช่างไม้ แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า “วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้” แต่ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไป เขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่า “วันนี้อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้” แต่ที่จริง เมื่ออาสวะสิ้นไปภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั่นเทียว

ภาวนาสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๗๑/๑๕๗.